"สวัสดีครับ เรื่องการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ คุณเลือกเรียนรู้ด้วยตนเอง ดังนั้น สามารถเลื่อนเมาส์อ่านและทำความเข้าใจเนื้อหาสาระได้ตามสะดวกได้เลยครับ หรือหากต้องการให้ Luca ช่วยอธิบายในหัวข้อใดก็คลิกฟังเสียง Luca ที่ด้านล่างของแต่ละหัวข้อนั้นได้เลยครับ และเมื่อจบเนื้อหาแล้วอย่าลืมวัดค่าพลังการเรียนรู้เพื่อเก็บคะแนนด้วยนะครับ (โดยเมื่อกดปุ่ม Back กลับไปยังหน้าหลักของบทเรียนจะมีรายการให้เลือกทำแบบทดสอบหลังเรียนครับ)"
การวัดและประเมินการเรียนรู้เป็นกระบวนการตรวจสอบการเรียนรู้ และพัฒนาการต่าง ๆ ของผู้เรียนตามมาตรฐานการเรียนรู้ของหลักสูตร เพื่อนำผลไปใช้ปรับปรุงการจัดการเรียนรู้ให้บรรลุตามเป้าหมายและมาตรฐานการเรียนรู้ที่กำหนดไว้ และใช้เป็นข้อมูลสำหรับการตัดสินผลการเรียน ครูผู้สอนทุกคนจึงต้องรับผิดชอบต่อการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนให้เป็นไปอย่างถูกต้องตามสภาพความเป็นจริงของผู้เรียน เหมาะสม มีคุณภาพและประสิทธิภาพ (พิมพันธ์ เดชะคุปต์ และพเยาว์ ยินดีสุข, 2560) ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการพื้นฐานของการวัดและประเมินผลการเรียนรู้จึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นสำหรับผู้สอน เพื่อนำไปบูรณาการและประยุกต์ใช้กับเครื่องมือที่หลากหลายทางเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลต่อการพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียน
ความหมายการวัดและการประเมินผลการเรียนรู้
การวัด (Measurement) เป็นวิธีหรือกระบวนการเชิงปริมาณในการกำหนดค่าเป็นตัวเลขหรือสัญลักษณ์ที่มีความหมาย โดยอาศัยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่ง
การประเมินผล (Evaluation) เป็นกระบวนการในการตัดสินคุณค่าของสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ได้จากการวัดอย่างมีหลักเกณฑ์เพื่อเป็นการสรุปว่าสิ่งนั้นเป็นอย่างไร เช่น ดีหรือไม่ ผ่านหรือไม่ ได้ผลการเรียนเป็นอย่างไร
จุดประสงค์การวัดและการประเมินผล
1. เพื่อการจัดตำแหน่ง โดยใช้เครื่องมือต่าง ๆ เพื่อจัดหรือแบ่งประเภทผู้เรียนแต่ละคนว่ามีความ สามารถ อยู่ในระดับใดของกลุ่ม
2. เพื่อการวินิจฉัย เพื่อให้ทราบว่าผู้เรียนคนใดมี ความ สามารถ ด้านใด มีเนื้อหาในส่วนใดที่ผู้เรียนเข้าใจหรือไม่เข้าใจ
3. เพื่อการเปรียบเทียบ เพื่อเปรียบเทียบพัฒนาการของผู้เรียน เช่น ก่อนเรียนและหลังเรียน
4. เพื่อการพยากรณ์ เพื่อช่วยทำนายหรือคาดเดาและแนะนำว่าผู้เรียนควรเรียนอย่างไรจึงจะประสบความสำเร็จและ สอด คล้อง กับ ความ สามารถ ความ ถนัดหรือ ความ สนใจ
5. เพื่อให้ผลย้อนกลับ เพื่อนำผลการประเมินที่ได้ไปปรับปรุงการจัดการเรียน การ สอน ในครั้งต่อไป หรือเพื่อให้ผู้เรียนได้ทราบว่าตนเองมีความรู้ในระดับใด หรือมากน้อยเพียงใด
6. เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ โดยเป็นการกระตุ้นในรูปแบบต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ที่ดี
หลักการวัดและการประเมินผล
เบนจามิน บลูม (Bloom, 1956) ได้เสนอเกี่ยวกับจุดประสงค์ที่จะวัดและประเมินผล โดยเน้นที่จุดประสงค์หรือพฤติกรรมที่ต้องการวัดดังนี้
1. การวัดทางปัญญา (Cognitive Domain) หรือ พุทธิพิสัย
2. การวัดความรู้สึก (Affective Domain) หรือ จิตพิสัย
3. การวัดความสามารถทางพฤติกรรม (Psychomotor Domain)หรือ ทักษะพิสัย
1. การวัดทางปัญญา (Cognitive Domain) หรือพุทธิพิสัย เป็นการวัดพฤติกรรมเกี่ยวกับสติปัญญา ความรู้ ความคิด ความสามารถในการคิดเรื่องราวต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นความสามารถทางสติปัญญา โดยพฤติกรรมทางพุทธิพิสัย 6 ระดับ ได้แก่ ความรู้ ความจำ ความเข้าใจ การนำไปใช้ การวิเคราะห์ การสังเคราะห์ และการประเมินค่า โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. การวัดทางปัญญา (Cognitive Domain) หรือพุทธิพิสัย เป็นการวัดพฤติกรรมเกี่ยวกับสติปัญญา ความรู้ ความคิด ความสามารถในการคิดเรื่องราวต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นความสามารถทางสติปัญญา โดยพฤติกรรมทางพุทธิพิสัย 6 ระดับ ได้แก่ ความรู้ ความจำ ความเข้าใจ การนำไปใช้ การวิเคราะห์ การสังเคราะห์ และการประเมินค่า โดยมีรายละเอียดดังนี้
1.1 ความรู้ (Knowledge) เป็นความสามารถในการเก็บรักษามวลประสบการณ์ต่าง ๆ จากการที่ได้รับรู้ไว้และระลึกสิ่งนั้นได้เมื่อต้องการ ประกอบด้วย ความรู้เฉพาะเจาะจง ความรู้เกี่ยวกับวิธีการเฉพาะอย่าง และความรู้ทั่วไป เช่น สามารถบอกชื่อ วัน เวลา สถานที่ เหตุการณ์ กระบวนการ วิธีการ ชนิด ประเภท วิธีปฏิบัติ หรือหลักการต่าง ๆ
1.2 ความเข้าใจ (Comprehension) เป็นความสามารถในการจับใจความสำคัญของเรื่องราวหรือสิ่งต่าง ๆ และสามารถแสดงออกมาในรูปของการแปลความ ตีความ คาดคะเน ขยายความ หรือ การกระทำอื่น ๆ ประกอบด้วย การแปลความ การตีความ และการขยายความ เช่น สามารถแปลความหมาย อธิบายคำศัพท์ สรุปสาระสำคัญ เรียงลำดับ บอกข้อแตกต่าง หรือคาดคะเน
1.3 การนำไปใช้ (Application) เป็นความสามารถในการนำเอาหลักการ เทคนิค แนวคิด และทฤษฎีมาใช้ในการแก้ปัญหาในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ เช่น สามารถนำไป เลือก พัฒนา ปรับใช้ หรือปรับเปลี่ยน
1.4 การวิเคราะห์ (Analysis) เป็นความสามารถในการคิด หรือ แยกแยะเรื่องราวสิ่งต่าง ๆ ออกเป็นส่วนย่อย เป็นองค์ประกอบที่สำคัญได้ และมองเห็นความสัมพันธ์ของส่วนที่เกี่ยวข้องกัน ความสามารถในการวิเคราะห์จะแตกต่างกันไปแล้วแต่ความคิดของแต่ละคน ประกอบด้วย การวิเคราะห์องค์ประกอบ การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ การวิเคราะห์หลักการดำเนินงาน เช่น สามารถชี้บ่งหรือแจกแจงส่วนที่สำคัญ หรือผลที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลง หรือบอกข้อดี ข้อเสีย เป็นต้น
1.5 การสังเคราะห์ (Synthesis) เป็นความสามารถในการผสมผสานส่วนย่อย ๆ เข้าเป็นเรื่องราวเดียวกันอย่างมีระบบ เพื่อให้เกิดสิ่งใหม่ที่สมบูรณ์และดีกว่าเดิม อาจเป็นการถ่ายทอดความคิดออกมาให้ผู้อื่นเข้าใจได้ง่าย เช่น การกำหนดวางแผนวิธีการดำเนินงานขึ้นใหม่ หรืออาจจะเกิดเป็นความคิดที่จะสร้างความสัมพันธ์ของสิ่งที่เป็นนามธรรมขึ้นมาในรูปแบบ หรือแนวคิดใหม่ ประกอบด้วย การสังเคราะห์ข้อความ การสังเคราะห์แผนงาน และการสังเคราะห์ความสัมพันธ์ เช่น สามารถเขียนโครงสร้าง สามารถแต่งเรื่องราว สามารถออกแบบ และวางแผนสิ่งต่าง ๆ
1.6 การประเมินค่า (Evaluation) เป็นความสามารถในการตัดสินตีราคา หรือ สรุปเกี่ยวกับคุณค่าของสิ่งต่าง ๆ ออกมาในรูปของคุณธรรมอย่างมีกฎเกณฑ์ที่เหมาะสม ซึ่งอาจเป็นไปตามเนื้อหาสาระในเรื่องนั้น ๆ หรืออาจเป็นกฎเกณฑ์ที่สังคมยอมรับก็ได้ ประกอบด้วย การประเมินค่าโดยอาศัยข้อเท็จจริงภายใน และการประเมินค่าโดยอาศัยข้อเท็จจริงภายนอก เช่น สามารถตัดสิน โต้แย้ง พิจารณา หรือเปรียบเทียบ
2. การวัดความรู้สึก (Affective Domain) หรือจิตพิสัย เป็นการวัดพฤติกรรมด้านค่านิยม ความรู้สึก ซาบซึ้ง ทัศนคติ ความเชื่อ ความสนใจและคุณธรรม พฤติกรรมด้านนี้อาจไม่เกิดขึ้นทันที ดังนั้นการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม และสอดแทรกสิ่งที่ดีงามอยู่ตลอดเวลา จะทำให้พฤติกรรมของผู้เรียนเปลี่ยนไปในแนวทางที่พึงประสงค์ได้ พฤติกรรมทางจิตพิสัยมี 5 ระดับ ได้แก่ การรับรู้ การตอบสนอง การสร้างค่านิยม การจัดระเบียบค่านิยม และลักษณะนิสัยที่เกิดจากค่านิยม ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
2.1 การรับรู้ (Receiving) เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นต่อปรากฏการณ์ หรือสิ่งเร้าอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นไปในลักษณะของการแปลความหมายของสิ่งเร้านั้นว่าคืออะไร แล้วจะแสดงออกมาในรูปของความรู้สึกที่เกิดขึ้น
2.2 การตอบสนอง (Responding) เป็นการกระทำที่แสดงออกมาในรูปของความเต็มใจ ยินยอม และพอใจต่อสิ่งเร้านั้น ซึ่งเป็นการตอบสนองที่เกิดจากการเลือกสรรแล้ว
2.3 การสร้างค่านิยม (Valuing) เป็นการเลือกปฏิบัติในสิ่งที่เป็นที่ยอมรับกันในสังคม การยอมรับนับถือในคุณค่านั้น ๆ หรือปฏิบัติตามในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง จนกลายเป็นความเชื่อ แล้วจึงเกิดทัศนคติที่ดีในสิ่งนั้น
2.4 การจัดระเบียบค่านิยม (Organization) เป็นการสร้างแนวคิดจัดระบบของค่านิยมที่เกิดขึ้นโดยอาศัยความสัมพันธ์ ถ้าเข้ากันได้ก็จะยึดถือต่อไปแต่ถ้าขัดกันอาจไม่ยอมรับ โดยยกเลิกค่านิยมนั้นไป
2.5 ลักษณะนิสัยที่เกิดจากค่านิยม (Characterization) เป็นการนำค่านิยมที่ยึดถือมาแสดงพฤติกรรมที่เป็นนิสัยประจำตัว ให้ประพฤติปฏิบัติแต่สิ่งที่ถูกต้องดีงามพฤติกรรมด้านนี้ จะเกี่ยวกับความรู้สึกและจิตใจ ซึ่งจะเริ่มจากการได้รับรู้จากสิ่งแวดล้อม แล้วจึงเกิดปฏิกิริยาโต้ตอบ ขยายกลายเป็นความรู้สึกด้านต่าง ๆ
3. การวัดความสามารถทางพฤติกรรม (Psychomotor Domain) หรือทักษะพิสัย เป็นการวัดพฤติกรรมที่บ่งบอกถึงความสามารถในการปฏิบัติงานได้อย่างคล่องแคล่วชำนิชำนาญ ซึ่งแสดงออกมาได้โดยตรงโดยมีเวลาและคุณภาพของงานเป็นตัวชี้ระดับของทักษะ พฤติกรรมทางทักษะพิสัยมี 5 ระดับ ได้แก่ การรับรู้ การลงมือทำตามแบบ การยอมรับคำแนะนำ การกระทำด้วยตนเอง และการปฏิบัติงานที่ซับซ้อนได้ โดยมีรายะเอียดดังนี้
3.1 การรับรู้ เป็นการให้ผู้เรียนได้รับรู้หลักการปฏิบัติที่ถูกต้อง หรือเป็นการเลือกหาตัวแบบที่สนใจ
3.2 การลงมือกระทำตามแบบ เป็นพฤติกรรมที่ผู้เรียนพยายามฝึกตามแบบที่ตนสนใจและพยายามทำซ้ำ เพื่อที่จะให้เกิดทักษะตามแบบที่ตนสนใจให้ได้ หรือ สามารถปฏิบัติงานได้ตามตัวอย่างนั้น
3.3 การยอมรับคำแนะนำ คือ ผู้เรียนสามารถกระทำตามสิ่งที่ได้รับคำแนะนำได้
3.4 การกระทำด้วยตนเอง เป็นพฤติกรรมที่สามารถปฏิบัติได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องอาศัยเครื่องชี้แนะ เมื่อได้กระทำซ้ำแล้ว ก็พยายามหาความถูกต้องในการปฏิบัติ
3.5 ปฏิบัติงานที่ซับซ้อนได้ พฤติกรรมที่ได้จากการฝึกอย่างต่อเนื่อง จนสามารถปฏิบัติ ได้คล่องแคล่วว่องไวโดยอัตโนมัติ หรือเป็นไปอย่างธรรมชาติ
ส่วนระดับความสามารถที่มีการปรับปรุงใหม่ตามแนวคิดของ Anderson and Krathwohl (2001) แบ่งออกเป็น
ด้านพุทธิพิสัย (Cognitive Domain) ประกอบด้วย
1. การจำ (Remembering)
2. การเข้าใจ (Understanding)
3. การประยุกต์ใช้ (Applying)
4. การวิเคราะห์ (Analyzing)
5. การประเมินผล (Evaluating)
6. การสร้างสรรค์ (Creating)
ด้านจิตพิสัย (Affective Domain) ประกอบด้วย
1. การรับรู้
2. การตอบสนอง
3. การสร้างค่านิยม
4. การจัดระบบ
5. การสร้างคุณลักษณะจากค่านิยม
ด้านทักษะพิสัย (Psychomotor Domain) ประกอบด้วย
1. ทักษะการเคลื่อนไหวของร่างกาย
2. ทักษะการเคลื่อนไหวอวัยวะสองส่วนหรือมากกว่า พร้อม ๆ กัน
3. ทักษะการสื่อสารโดยใช้ท่าทาง และทักษะการแสดงพฤติกรรมทางการพูด
ประโยชน์ต่อผู้เรียน
1. ทำให้ผู้เรียนทราบจุดมุ่งหมายของการจัดการเรียนการสอนที่ชัดเจน
2. ทำให้เกิดแรงจูงใจในการเรียนเพิ่มขึ้น เพื่อให้ได้ผลการวัดและประเมินผลดีขึ้น
3. ช่วยสร้างนิสัยในการใฝ่รู้ให้เกิดขึ้นกับผู้เรียน โดยเมื่อไม่สามารถตอบคำถามหรือตอบแบบทดสอบได้ผู้เรียนจะไปศึกษาเพิ่มเติมก่อให้เกิดนิสัยอยากรู้อยากเห็นมากขึ้น
4. ทำให้ทราบถึงสถานภาพทางการเรียนของตนเองว่าเด่นด้อยในเรื่องใดควรได้รับการปรับปรุงอย่างไร
ประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
ช่วยให้ผู้ปกครองทราบถึงพัฒนาการหรือความก้าวหน้าในการเรียนของนักเรียนเป็นระยะ ๆ ดังนั้นจึงต้องให้ผู้ปกครองผู้เรียนทราบด้วย เพื่อที่ผู้ปกครองจะได้ใช้เป็นพื้นฐานการตัดสินใจเกี่ยวกับการศึกษาของผู้เรียนต่อไป
ประโยชน์ต่องานแนะแนว
ข้อมูลที่ได้จากการวัดผลและประเมินผลการศึกษา เช่น การวัดเจตคติ การวัดความสนใจ การวัดบุคลิกภาพ การวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน การวัดความถนัด เป็นข้อมูลของนักเรียนที่มีประโยชน์ต่องานแนะแนวในการให้คำแนะนำหรือข้อชี้แนะเกี่ยวกับการเลือกอาชีพ การศึกษาต่อ และรวมไปถึงปัญหาส่วนตัวของนักเรียนที่ประสบอยู่
ประโยชน์ต่อการบริหารการศึกษา
การประเมินผลโดยภาพรวมของสถานศึกษานั้นๆ จะเป็นข้อมูลบอกถึงประสิทธิภาพ ในการจัดและการบริหารการศึกษา โดยการวัดและการประเมินผลสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินกิจกรรมหลาย ๆ ด้าน เช่น การคัดเลือกบุคลากรในตำแหน่งหน้าที่ต่าง ๆ การสอบคัดเลือกการจัดแยกประเภทนักเรียน นักศึกษา และการประเมินผลการปฏิบัติงาน เป็นต้น
ประโยชน์ต่อการวิจัยการศึกษา
ข้อมูลทางการศึกษาที่ได้จากการวัดผลและประเมินผลการศึกษาด้านต่างๆ นั้น จะเป็นข้อมูลเบื้องต้นที่สามารถนำไปใช้ในการศึกษาและวิเคราะห์เพื่อศึกษาวิจัยในประเด็นข้อสงสัยต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี เพื่อให้ได้ผลการศึกษาวิจัยที่มีคุณภาพ และสามารถนำไปใช้พัฒนาระบบการศึกษาได้อย่างแท้จริง
กระทรวงศึกษาธิการ. (2551). หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด.
จรูญ เฉลิมทอง. (2557). การวัดและประเมินผลการศึกษา. กรุงเทพฯ: โครงการสวนดุสิตกราฟฟิคไซท์.
ชาญชัย ยมดิษฐ์. (2548). เทคนิคการสอนร่วมสมัย. กรุงเทพฯ: บริษัท หลักพิมพ์ จำกัด.
ณิรดา เวชญาลักษณ์. (2561). หลักการจัดการเรียนรู้. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ทิวัตถ์ มณีโชติ. (2549). การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน. กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์ศูนย์ส่งเสริมวิชาการ.
ธิดารัตน์ ตันนิรัตร์. (2562). การจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21. กรุงเทพฯ: คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา.
นรรัชต์ ฝันเชียร. (2562). วิธีการวัดและประเมินผลตามสภาพจริงอย่างมีประสิทธิภาพ. สืบค้นเมื่อ 1 สิงหาคม 2563, เข้าถึงได้จาก https://www.trueplookpanya.com/blog/content/73500/-teaartedu-teaart-teamet-
เบญจวรรณ กี่สุขพันธ์ พันพัชร ปิ่นจินดา และอลงกรณ์ เกิดเนตร. (2561). การจัดการเรียนรู้และการจัดการชั้นเรียน. กรุงเทพฯ: ศูนย์บริการสื่อและสิ่งพิมพ์กราฟฟิคไซท์.
พิมพันธ์ เดชะคุปต์ และพเยาว์ ยินดีสุข. (2560). ทักษะ 7C ของครู 4.0 (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
มณีญา สุราช. (2560). การวัดและประเมินผลการศึกษา (เอกสารประกอบการสอน). อุดรธานี: คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี.
เยาวดี รางชัยกุล วิบูรณ์ศรี. (2554). การวัดผลและการสร้างแบบทดสอบผลสัมฤทธิ์ (พิมพ์ครั้งที่ 10). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
วรรณ์ดี แสงประทีปทอง. (2556). การวัดและการประเมินผลการจัดการเรียนรู้ ในประมวลสาระชุดวิชาการพัฒนาระบบการจัดการเรียนรู้ หน่วยที่ 10. นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
วรรณ์ดี แสงประทีปทอง. (2561). แนวทางการประเมินผลการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21. Ubon Ratchathani Journal of Research and Evaluation, 7(1), 1–10. https://so06.tci-thaijo.org/index.php/ubonreseva/article/view/138468/102925
ศิริชัย กาญจนวาสี. (2552). ทฤษฎีการทดสอบดั้งเดิม (พิมพ์ครั้งที่ 6). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ. (2542). พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545. กรุงเทพฯ: บริษัท พริกหวานกราฟฟิค จำกัด.
สำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้. (2562). มาตรฐานการศึกษาของชาติ พ.ศ. 2561. (สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา). นนทบุรี: บริษัท 21 เซ็นจูรี่ จำกัด.
สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา. (2553). นิยามคำศัพท์หลักสูตร หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด.
สุรชัย ขวัญเมือง. (2552). สถิติเบื้องต้น. ร้อยเอ็ด: มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด.
สุรางค์ โค้วตระกูล. (2548). จิตวิทยาการศึกษา (พิมพ์ครั้งที่ 6) ฉบับปรับปรุงแก้ไข. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
Gutiérrez-Esteban, P., Tosina, R., Masa, J., Delgado, S., & Díaz, L. (2016). Evaluation of teaching design in synchronous virtual classrooms. International Journal of Continuing Engineering Education and Life-Long Learning, 26, 72. https://doi.org/10.1504/IJCEELL.2016.075040.
Miller, A. (2020). Formative Assessment in Distance Learning. Retrieved January 31, 2022, from https://www.edutopia.org/article/formative-assessment-distance-learning.