"สวัสดีครับ เรื่องทฤษฎีการเรียนรู้ คุณเลือกเรียนรู้ด้วยตนเอง ดังนั้น สามารถเลื่อนเมาส์อ่านและทำความเข้าใจเนื้อหาสาระได้ตามสะดวกได้เลยครับ หรือหากต้องการให้ Luca ช่วยอธิบายในหัวข้อใดก็คลิกฟังเสียง Luca ที่ด้านล่างของแต่ละหัวข้อนั้นได้เลยครับ และเมื่อจบเนื้อหาแล้วอย่าลืมวัดค่าพลังการเรียนรู้เพื่อเก็บคะแนนด้วยนะครับ (โดยเมื่อกดปุ่ม Back กลับไปยังหน้าหลักของบทเรียนจะมีรายการให้เลือกทำแบบทดสอบหลังเรียนครับ)"
ทฤษฎีการเรียนรู้เป็นแนวความคิดที่ได้รับการยอมรับว่าสามารถใช้อธิบายลักษณะการเกิดการเรียนรู้หรือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้ การจัดการเรียนรู้คือแนวคิดที่เป็นหลักของการปฏิบัติทางการสอนที่สอดคล้องกับทฤษฎีการเรียนรู้ต่าง ๆ (ทิศนา แขมมณี, 2561) การเรียนรู้เป็นกระบวนการที่ละเอียดอ่อนและซับซ้อน นักการศึกษาและนักจิตวิทยาได้พยายามศึกษาสภาพการเรียนรู้ของมนุษย์ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร มีกระบวนการอะไรบ้างที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการถ่ายโอนความรู้ไปสู่สถานการณ์ได้อย่างไร (เบญจวรรณ กี่สุขพันธ์, 2558)
พาฟลอฟ เชื่อว่า สุนัขเกิดการเรียนรู้จากการเชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้ากับการตอบสนอง โดยเรียกรูปแบบของการเชื่อมโยงว่า “การวางเงื่อนไขแบบคลาสสิก” และทำให้ทราบว่าการเรียนรู้เกิดจากการสร้างความสัมพันธ์เชื่อมโยง ระหว่างการตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่เป็นกลาง ซึ่งสรุปเป็นกฎเกณฑ์การเรียนรู้ได้ 4 ข้อ ดังนี้
1. การลดพฤติกรรมหรือหยุดยั้งพฤติกรรม หลังจากที่สุนัขเรียนรู้แล้ว พาฟลอฟได้ทดลองให้เฉพาะเสียงกระดิ่งเพียงอย่างเดียวไปเรื่อย ๆ โดยไม่ให้เนื้อบดเลย ผลปรากฏว่าการตอบสนองจะค่อย ๆ ลดลง จนในที่สุดน้ำลายสุนัขจะหยุดไหล
2. การฟื้นกลับของพฤติกรรม หมายถึง การกลับมาตอบสนองใหม่อีกครั้ง หลังจากหยุดยั้งพฤติกรรมไปแล้ว โดยพาฟลอฟทำการทดลองใหม่อีกครั้ง หลังจากที่น้ำลายสุนัขหยุดไหลไประยะหนึ่ง ผลปรากฏว่าเสียงกระดิ่งที่มาพร้อมกับอาหารทำให้น้ำลายของสุนัขกลับมาไหลได้อีก
3. การสรุปความเหมือนกันหรือคล้ายกัน สุนัขตอบสนองต่อเสียงอย่างอื่นที่รับรู้ว่า คล้ายกับเสียงเดิม เช่น สุนัขน้ำลายไหลเมื่อได้ยินเสียงอื่น ๆ ที่คล้ายกับเสียงกระดิ่งที่มาจากเจ้าของ
4. การจำแนกความแตกต่าง สุนัขไม่ตอบสนองเสียงกระดิ่งที่มาจากบุคคลอื่น แสดงว่าสุนัขสามารถแยกความแตกต่างระหว่างเสียงเดิมจากเจ้าของกับเสียงที่มาจากแหล่งอื่นได้
- ส่วนการศึกษาทฤษฎีการวางเงื่อนไขของวัตสันทำให้ทราบว่า อารมณ์กลัวของมนุษย์ เกิดจากการเรียนรู้ที่ถูกการวางเงื่อนไขให้ตกใจหรือกลัว
ตัวอย่างการทดลองของพาฟลอฟ (Pavlov’s Classical Conditioning)
ที่มา: Sprouts: Pavlov’s Classical Conditioning, https://youtu.be/jd7Jdug5SRc
ตัวอย่างการทดลองของวัตสัน (Watson’s Theory of Behaviourism)
ที่มา: Sprouts: Watson’s Theory of Behaviourism, https://youtu.be/V09FuazW8bc
สกินเนอร์ใช้หนูในการทดลอง โดยสร้างกล่องทดลองที่เรียกว่า “Skinner box” ภายในกล่องมีหลอดไฟฟ้าต่อวงจรไว้กับคานเล็ก ๆ ถ้าหนูไปแตะหรือเหยียบคาน หลอดไฟจะสว่างพร้อมกับมีเสียงดังแกร๊กและมีอาหารหล่นลงมา สกินเนอร์นำหนูที่กำลังหิวมาทดลองโดยใส่ไว้ในกล่อง หนูจะวิ่งไปมาจนกระทั่งบังเอิญไปเหยียบคาน ปรากฏว่าหลอดไฟสว่างพร้อมกับเสียงดังแกร๊กและมีอาหารหล่นลงมา หนูก็จะรีบวิ่งไปกินอาหาร จากนั้น หนูก็จะเวียนเฝ้ามาเหยียบคานและวิ่งไปคอยรับอาหาร ซึ่งในครั้งแรกหนูจะเกิดการเรียนรู้แบบทั่วไป (Generalization) คือ คิดว่าการเหยียบคานทุกครั้งจะได้รับอาหาร แต่ต่อมาหนูจะเรียนรู้ว่าต้องเหยียบคานแล้วได้ยินเสียงดังแกร๊กเท่านั้นจึงจะได้รับอาหาร ซึ่งเรียกว่าเป็นการเรียนรู้แบบสามารถจำแนกได้ (Discrimination)
ตัวอย่างการทดลองของสกินเนอร์ (Skinner’s Operant Conditioning)
ที่มา: Sprouts: Skinner’s Operant Conditioning: Rewards & Punishments, https://youtu.be/ne6o-uPJarA
การทดลองด้วยกล่องกลปริศนา (Puzzie-box) ของธอร์นไดค์ โดยในช่วงแรกของการทดลอง แมวที่ถูกจับใส่ไว้ในกล่องกลปริศนาจะมีปฏิกิริยาตอบสนองหลายอย่าง เช่น ข่วน ตะกุย ตะกายผนังภายในกล่องกลปริศนา จากนั้นเมื่อแมวไปเหยียบคานไม้ที่เป็นสลักสำหรับเปิดประตูโดยบังเอิญ ทำให้ประตูกรงเปิดและแมวสามารถออกไปกินปลาได้ การทดลองซ้ำมากขึ้นจะทำให้พฤติกรรมการเดาสุ่มของแมวลดลง และในที่สุดแมวจะสามารถเหยียบสลักคานไม้ทำให้ประตูกรงเปิดและออกไปกินปลาได้โดยไม่ต้องเสียเวลาลองผิดลองถูกอีกเลย ดังนั้น การที่แมวกระทำพฤติกรรมซ้ำจะมีความสัมพันธ์กับผลของการกระทำที่เรียกว่า กฎแห่งผล (Law of Effect) ซึ่งความรู้จากทฤษฎีของธอร์นไดค์ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในการจัดการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนเรียนด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การยกตัวอย่าง การนำเข้าสู่บทเรียน การทบทวนเนื้อหา การใช้สื่อประกอบเนื้อหาสาระ นอกจากนี้ ข้อสรุปเรื่องผลของการกระทำ ยังได้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการให้ข้อมูลย้อนกลับเพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ และพัฒนาตนเองต่อไปได้ด้วย
การทดลองของธอร์นไดค์ (Thorndike cats experiment)
ที่มา: Lampshade: Edward Thorndike cats experiment (behavioral psychology), https://youtu.be/hhNxeYYyCSQ
การเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ถ้าให้แรงขับหรือความต้องการของร่างกายลดน้อยลง ซึ่งสรุปเป็นแนวคิดการเรียนรู้ดังนี้
1. เมื่อต้องการให้ใครเกิดการเรียนรู้ จงทำให้มีความต้องการหรือแรงขับหรือแรงจูงใจเกิดขึ้น
2. การเรียนรู้ไม่จำเป็นต้องทำให้แรงขับหรือความต้องการลดลงทั้งหมด รางวัลที่ให้จึงไม่จำเป็นต้องให้มากเสมอไป
3. การเรียนรู้หรือการพัฒนานิสัยจะเกิดขึ้นได้ต้องเป็นไปในลักษณะของการกระทำที่มีต่อเนื่องไป สะสมทีละน้อย โดยในการเสริมแรงทุกครั้งจะมีผลทำให้การเรียนรู้เพิ่มความเข้มแข็งมากขึ้นตามไปด้วย
จิราภา เต็งไตรรัตน์. (2550). การเรียนรู้. ใน สิริอร วิชชาวุธ (บ.ก.), จิตวิทยาทั่วไป (พิมพ์ครั้งที่ 5). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
ชาญชัย ยมดิษฐ์. (2548). เทคนิคการสอนร่วมสมัย. กรุงเทพฯ: บริษัท หลักพิมพ์ จำกัด.
ณิรดา เวชญาลักษณ์. (2561). หลักการจัดการเรียนรู้. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ทิศนา แขมมณี. (2560). ศาสตร์การสอน องค์ความรู้เพื่อการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ (พิมพ์ ครั้งที่ 21). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
เบญจวรรณ กี่สุขพันธ์. (2558). การออกแบบและการจัดการเรียนรู้. กราฟฟิคไซท์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต.
สุมาลี ชัยเจริญ. (2559). การออกแบบการสอน หลักการ ทฤษฎี สู่การปฏิบัติ (พิมพ์ครั้งที่ 2). ขอนแก่น: บริษัท เพ็ญพริ้นติ้ง จำกัด.
สุรางค์ โค้วตระกูล. (2559). จิตวิทยาการศึกษา (พิมพ์ครั้งที่ 12). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.